คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต,บรรยายวิชาการ,วิจัย,ศึกษากุรอาน,E-Book

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

สรุป : ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย

ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย
              การดำเนินการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยทั่วไปแล้วจะมีขั้นตอนหลักในการดำเนินการประกอบด้วย 10 ขั้นตอนดังนี้ 
1. กำหนดปัญหาที่จะดำเนินการวิจัย
2. กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย
3. ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ( ทฤษฎี เอกสาร งานวิจัย )
4. กำหนดกรอบแนวคิดและตั้งสมมติฐาน นิยามศัพท์
5. กำหนดแบบการวิจัย
6. กำหนดประชากรและวิธีการสุ่มตัวอย่าง
7. สร้างเครื่องมือและหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ
8. การรวมรวมข้อมูล ( แหล่งปฐมภูมิ, แหล่งทุติยภูมิ)
9. การวิเคราะห์ข้อมูล
10. การนำเสนอผล ( การเขียนรายงานการวิจัย)

1. กำหนดปัญหาที่จะดำเนินการวิจัย
เป็นการกำหนดปัญหาของการวิจัย และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการวิจัยและในการเลือกปัญหาในการวิจัยต้องพิจารณาจากความรู้ ทัศนคติ ความสามารถของผู้วิจัย แหล่งความรู้ที่จะเป็นส่วนเสริมให้งานวิจัยสำเร็จ ประชากรและวิธีการสุ่มตัวอย่างการรวบรวมข้อมูล รวมทั้งเงินทุน เวลาที่จะทำให้งานวิจัยสำเร็จ ซึ่งมีข้อควรพิจารณาในการเลือกปัญหาคือ
-ต้องเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ
-สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่มีเหตุผล
-มีข้อมูลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือสนับสนุน
-เป็นปัญหาที่แสดงถึงการริเริ่ม
ซึ่งการกำหนดปัญหาดังกล่าวจะเป็นกรอบในการ
     -ช่วยชี้แนวทางให้ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์
     -เป็นกรอบในการศึกษาค้นคว้าทฤษฎี งานวิจัย
     -เป็นแนวทางกำหนดตัวแปรและสมมุติฐาน
     -ช่วยกำหนดรูปแบบและวิธีดำเนินการวิจัย
2. กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย
การกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัย (Statement of research objectives) เมื่อผู้วิจัยตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำการวิจัยแล้ว ผู้วิจัยต้องกำหนดข้อความที่เป็นปัญหาและวัตถุประสงค์ในการวิจัยให้ชัดเจน การกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัยเป็นการค้นหาคำตอบที่ต้องการจากงานวิจัย 

3. ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ( ทฤษฎี เอกสาร งานวิจัย)
      มีจุดมุ่งหมายเพื่อ  
   -มุ่งแสวงหาพื้นฐานทางทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ 
   -มุ่งแสวงหาสถานภาพทางการวิจัย (อะไร เมื่อไร ที่ไหน ใคร อย่างไร) 
   -มุ่งวางแนวทางการวิจัยที่เหมาะสม (กำหนดกรอบแนวคิด สมมติฐานการวิจัย)
 
โดยจะศึกษาจาก การประมวลเอกสารที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบเอกสาร  การทบทวนวรรณกรรมทีเกี่ยวข้อง ทฤษฎี เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการ ประมวลเอกสารที่ เกี่ยวข้อง มีประโยชน์เพื่อ
   ·ทำให้ทราบว่าการวิจัยที่ใกล้เคียงกับการวัยของตนนั้นนักวิจัยคนอื่นได้จัดการแก้ปัญหาของเขาอย่างไร 
   ·ทำให้นักวิจัยได้เรียนรู้การแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่อาจประสบต่อไป 
   ·ทำให้นักวิจัยทราบถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อน
   ·ช่วยให้นักวิจัยมองเห็นการวิจัยของตนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยอื่นๆ อย่างไร 
   ·ช่วยให้ผู้วิจัยมีความคิดใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ ในการทำวิจัย 
   ·ช่วยให้นักวิจัยประเมินความพยายามของตนโดยเปรียบเทียบกับความพยายามของผู้อื่นในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน

4. กำหนดกรอบแนวคิดและตั้งสมมติฐาน นิยามศัพท์
             -กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual framework ) หมายถึง แนวคิดของผู้วิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม ที่ใช้ศึกษาในการวิจัยครั้งนั้น ๆ โดยมีที่มาจากการทบทวนเอกสารวรรณกรรม แนวคิดทฤษฎี ตลอดจนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเขียนเป็นแผนภาพเชื่อมโยงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษาในงานวิจัย ประโยชน์ของกรอบความคิดในการวิจัย
1. ช่วยชี้ให้เห็นทิศทางของการวิจัยและประเภทของตัวแปรต้นตัวแปรตาม
2. ช่วยชี้ความสัมพันธ์ของตัวแปรต้นและตัวแปรตาม
3. บอกแนวทางในการออกแบบการวิจัย
4. บอกแนวทางการกำหนดวัตถุประสงค์และสมมติฐานการวิจัย
5. บอกแนวทางการเลือกใช้เครื่องมือในการวิจัย
6. บอกแนวทางการเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล
7. บอกกรอบการแปรผลและอภิปรายผลการวิจัย
-การกำหนดสมมุติฐาน หมายถึง การเขียนข้อความที่เป็นข้อคาดหวังหรือคำตอบไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับความแตกต่างที่อาจเป็นไปได้ ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งสมมุติฐานนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นจริงเสมอไป
-นิยามศัพท์ หลักการให้คำนิยามตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยทุกตัวเป็นการให้คำนิยามเชิงปฏิบัติการที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากคำศัพท์บางคำมีความหมายได้หลายคำจะให้เฉพาะความหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เท่านั้น ความหมายที่ให้จะเป็นความหมายเชิงปฏิบัติการ เป็นคำจำกัดความที่ให้ไว้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันกับผู้วิจัย การให้ความหมายต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ค้านกับแนวคิดทฤษฎี และมีความหมายที่แน่นอนชัดเจน วัดได้เป็นอย่าเดียวกันไม่ว่าใครวัด การให้คำนิยามศัพท์ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ
1. เพื่อให้เกิดความคงที่ของตัวแปรที่ศึกษา ตลอดระยะเวลาของการวิจัย
2. เพื่อนำไปสู่การสร้างเครื่องมือวัดและวิธีการวัดตัวแปรนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

5. กำหนดแบบการวิจัย
o แบบการวิจัย หมายถึง แผน โครงสร้าง และยุทธวิธี ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบต่อปัญหาที่ต้องการวิจัย
-แผน หมายถึง ขอบข่ายของโปรแกรมการดำเนินงานวิจัยทั้งหมด ที่ผู้วิจัยได้ทำการ วางแผนไว้
-โครงสร้าง หมายถึง เค้าโครงหรือแบบจำลอง ของตัวแปรในการวิจัย
-ยุทธวิธี หมายถึง วิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
-เค้าโครงการวิจัย หมายถึง รายละเอียดของขั้นตอนต่างๆ ของการทำการวิจัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ปัญหาการวิจัยไปจนถึงการเก็บรวบรวมข้อมูล และแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล เค้าโครงวิจัยช่วยให้ผู้วิจัยสามารถดำเนินการวิจัยได้สำเร็จ แต่ไม่ได้ประกันว่าผลการวิจัยที่ได้นั้นถูกต้องเสมอไป
· การเขียนเค้าโครงการวิจัยการเขียนเค้าโครงการวิจัยเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นหนึ่งเนื่องจากเค้าโครงการวิจัยนั้นจะเป็นแบบแผนในการดำเนินงานวิจัย อย่างมีระบบ ควรจะประกอบด้วย
      1. ชื่องานวิจัย
2. ภูมิหลังหรือที่มาของปัญหา
3. วัตถุประสงค์
4. ขอบเขตของการวิจัย
5. ตัวแปรต่าง ๆ ที่วิจัย
6. คำนิยามศัพท์เฉพาะ (ในกรณีที่จำเป็น)
7. สมมุติฐาน (ถ้ามี)
8. วิธีดำเนินการวิจัย
1.1 รูปแบบของงานวิจัย
1.2 การสุ่มตัวอย่าง
1.3 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
1.4 การวิเคราะห์ข้อมูล
9. แผนการทำงาน
10. งบประมาณ

          การออกแบบการวิจัย หมายถึง การกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ และรายละเอียดของ
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการ ตลอดจนวิธีการ และแนวทางต่าง ๆ ที่จะใช้
เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจากประชากรเป้าหมาย หรือ จากตัวอย่างของประชากร ซึ่งข้อมูลที่
ได้มานี้ต้องสามารถตอบปัญหาของการวิจัยตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง
แม่นยำ อย่างมีวัตถุวิสัย และประหยัด

o ลักษณะของแบบการวิจัย
- แบบการวิจัยที่มีการทดลอง การออกแบบเป็นการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการทดลองที่จำเป็นดังนี้
· การกำหนดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
· กำหนดตัวแปรในการทดลอง
· เลือกแบบแผนแบบการทดลอง
· สร้างเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง
· ดำเนินการทดลองตามแผนแบบ
- แบบการวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการวิจัยที่ไม่มีการสร้างสถานการณ์เชื่อมโยงใดๆกับข้อมูลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  เป็นการค้นหาความจริงตามสภาพการณ์ปัจจุบันที่ปรากฏอยู่ เพื่อให้เห็นว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ที่ปรากฏอยู่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร โดยไม่มีการจัดกระทำเพื่อควบคุมตัวแปรใดๆ รูปแบบการวิจัยแบบสำรวจจำแนกได้ดังนี้
1) การสำรวจเชิงบรรยาย   2)การสำรวจเชิงเปรียบเทียบ   3)การสำรวจเชิงสหสัมพันธ์
4) การสำรวจเชิงสาเหตุ  เป็นต้น
      การออกแบบการวิจัยในการวิจัยเชิงสำรวจที่สำคัญคือ
-ออกแบบการเลือกตัวอย่าง
-ออกแบบการวัดค่าตัวแปร
-ออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล
- แบบการวิจัยเชิงพัฒนา
เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นที่จะนำผลการวิจัยมาเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่ม
คุณภาพ ประสิทธิภาพ การทำงานปกติในองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ โดยอาศัยยุทธศาสตร์ วิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะธรรมชาติของงานหรือหน่วยงานนั้น ๆ 

- แบบการวิจัยเชิงประเมิน ( Evaluation Research )
การวิจัยเชิงประเมินผล ( Evaluation Research ) เป็นรูปแบบการวิจัยชนิดหนึ่ง เหมือนการวิจัยเชิงสำรวจ แต่การวิจัยเชิงประเมินผล เป็นวิธีการวิจัยที่มุ่งหาความรู้+ความจริง  มาหาคุณค่าของสิ่งที่วิจัยนั้น เพื่อให้ผู้บริหารคิดสนใจว่าความยุติโครงการหรือให้ดำเนินการต่อไป ในการวิจัยเชิงประเมินผลนั้น สามารถดำเนินการประเมินได้ใน 3 ระดับ
1. ก่อนการดำเนินงาน
2 .ระหว่างดำเนินงาน
3. สิ้นสุดโครงการ
กระบวนการและขั้นตอนการทำวิจัยเชิงประเมินผล
ขั้นที่ 1 เลือกโครงการและตั้งหัวข้อวิจัย
ขั้นที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
ขั้นที่ 3 กำหนดปัญหา เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการประเมิน
ขั้นที่ 4 ออกแบบวิจัย วางแผนวิจัยประเมิน
ขั้นที่ 5 เก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นที่ 6 วิเคราะห์ข้อมูลและแปรผล
ขั้นที่ 7 การเสนอรายงานวิจัยเชิงประเมินผล
การนำทฤษฎีมากำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยเชิงประเมินผล
ในการวิจัยเชิงประเมินโครงการนั้น ทฤษฎีที่นิยม นำมาใช้มากที่สุด คือทฤษฎี CIPP Model ของ Stuffle beane หรือ CIPPO Model ของ นายธเนศ ต่วนชะเอม

6. กำหนดประชากรและวิธีการสุ่มตัวอย่าง
ประชากร ในการวิจัยหมายถึง จำนวนทั้งหมดของกลุ่มบุคคล สัตว์ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขอบข่ายการวิจัย โดยบ่างออกเป็น 2 ประเภท
· ประชากรที่มีจำนวนจำกัด
· ประชากรที่มีจำนวนไม่จำกัด
ตัวอย่าง หมายถึง ประชากรบางส่วนหรือทั้งหมดที่ใช้เป็นตัวแทนในการศึกษาวิจัย วิธีการเลือกตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 วิธี
·การเลือกตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น เป็นการเลือกตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ สะดวก ปลอดภัยเช่น
o การเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง
o การเลือกตัวอย่างแบบกำหนดโควต้า
o การเลือกตัวอย่างตามโอกาส
o การเลือกตัวอย่างตามสะดวก
               การที่เลือกตัวอย่างโดยไม่ทราบค่าความน่าจะเป็นนี้ไม่เหมาะสมที่จะใช้การคำนวณค่าสถิติอนุมาน
           ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะไม่ทราบค่า Sampling error จึงเหมาะสมที่จะใช้กับสถิติบรรยายเท่านั้น
·การเลือกตัวอย่างแบบทราบค่าความน่าจะเป็น เป็นการเลือกโดยการสุ่ม(Random) ที่แต่ละหน่วยของประชากรมีโอกาสได้รับการเลือกตัวอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกตัวอย่างแบบนี้แบ่งออกเป็น 5 วิธี คือ
1. การเลือกตัวอย่างอย่างง่าย เป็นวิธีการที่ง่ายๆ แต่ประชากรต้อง
     ไม่ใหญ่มากนัก
2. การเลือกตัวอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีใช้ได้ดีในกรณีที่ประชากรมีขนาด
    ใหญ่ที่มีการจัดระบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
3. การเลือกตัวอย่างแบบการจัดชั้น เป็นวิธีการเลือกตัวอย่างที่มีการจัดขั้น
    ก่อน เพื่อให้ตัวอย่างที่ได้มาจากทุกชั้น
4. การเลือกตัวอย่างแบบกลุ่ม เป็นวิธีการเลือกตัวอย่างที่มีการแบ่งประชากรออกเป็นกลุ่ม เช่นเดียวกับการจัดชั้นแต่ลักษณะจะไม่เหมือนกัน โดยการแบ่งแบบนี้ลักษณะภายในของประชากรแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน และแต่ละกลุ่มจะมีความคล้ายคลึงกัน แล้วจึงเลือกโดยการสุ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ โดยใช้ทุกหน่วยของกลุ่มย่อยมาเป็นตัวอย่าง
5. การเลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จะใช้เมื่อประชากรที่ศึกษามีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ โดยในกลุ่มย่อย ๆ ประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ ที่มีลักษณะตามที่สนใจคล้าย ๆ กัน

7. สร้างเครื่องมือและหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ
o สำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์นั้นสามารถเลือกใช้เครื่องมือการวิจัยได้ดังนี้
-แบบสอบถาม หมายถึง ชุดของข้อคำถามหรือข้อความเฉพาะเรื่องที่ผู้วิจัยต้องการ เพื่อให้ผู้ที่ถูกถาม ตอบคำถาม ส่วนมากเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือความรู้สึกนึกคิด บุคลิกภาพ ค่านิยมและทัศนคติของผู้ตอบ
-แบบสัมภาษณ์ หมายถึง แบบบันทึกคำถาม คำตอบสำหรับการสนทนาหรือการซักถามที่มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน ซึ่งมีสองลักษณะคือแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกับแบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง
-แบบสังเกต หมายถึง แบบฟอร์มที่ใช้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือต้องการศึกษาพฤติกรรมที่แฝงอยู่มนตัวผู้ถูกสังเกต หรือใช้ประกอบการสัมภาษณ์เพื่อดูกิริยาท่าทางของผู้ถูกสัมภาษณ์ซึ่งเป็นการใช้แบบสังเกตอย่างมีโครงสร้างหรือการที่ผู้สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ที่มีสิ่งที่ต้องการข้อมูลในสถานการณ์นั้นเป็นการสังเกตแบบไม่มีโครงสร้าง การสังเกตอาจสังเกตได้โดยตรงหรือใช้อุปกรณ์ช่วย
- แบบบันทึก (Recode) เป็นแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกเหตุการณ์หรือเรื่องราวหรือประวัติต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลในอดีตหรือข้อมูลจากการจดทะเบียน เวชระเบียนผู้ป่วยการรายประวัตินักศึกษาหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่มีหลักฐานอยู่
o การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือการวิจัย
- ความเที่ยงตรง (Validity) หมายถึง ความสามารถวัดได้ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะวัด และวัดได้ครอบคลุมพฤติกรรมลักษณะที่ต้องการการกำหนดความเที่ยงตรงตามเนื้อหานั้นจะต้องกำหนดนิยามตามทฤษฎีและแปลงเป็นนิยามเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาตัวชี้วัด
- ความเชื่อมั่น (Reliability) หมายถึง ความคงที่ในการวัดเมื่อวัดซ้ำ ๆ กันหลายครั้งจะให้ค่าเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกันการหาค่าความเชื่อมั่นมีหลายวิธีการดังนี้
1. วิธีการสอบซ้ำ
2. วิธีใช้ฟอร์มคู่ขนาน
3. วิธีหาความสอดคล้องภายใน
3.1 วิธีแบ่งครึ่ง
3.2 วิธีของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน
3.3 วิธีสัมประสิทธิ์แอลฟ่า
               - อำนาจจำแนก (Discrimination) เครื่องมือการวิจัยที่ดีต้องสามารถจำแนกสิ่งต่าง ๆ ออก
                              ตามคุณลักษณะที่ต้องได้
                - ประสิทธิภาพ (Efficiency) เครื่องมือการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ หมายถึงมีประสิทธิภาพ
                         ในการใช้ได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายการสร้างเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพ
                         ในการใช้งานจึงต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายว่าจะใช้เครื่องมือกับกลุ่มใด ธรรมชาติหรือ
                          ลักษณะพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายเป็นเช่นไร

8. การรวมรวมข้อมูล ( แหล่งปฐมภูมิ, แหล่งทุติยภูมิ)
o ในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยจะต้องทราบว่าในการทำการวิจัยนั้นสามารถจะรวบรวมข้อมูลจากกลุ่ม ประชากรทั้งหมด หรือ สุ่มตัวอย่าง ซึ่งในการสุ่มตัวอย่างนั้นก็ต้องทราบว่าจะต้องสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการใดที่จะให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของ กลุ่มประชากร ข้อมูลที่ผู้วิจัยจะทำการรวบรวมนั้นมาจากไหน ปฐมภูมิ (Primary Source) หรือ
      ทุติยภูมิ (Secondary Source)
- ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) เป็นข้อมูลสถิติซึ่งเก็บรวบรวมมาก่อนแล้วเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นซึ่งอาจจะเอามาใช้ประกอบในงานวิจัยได้ (Churchill. 1996 : 54) หรือหมายถึงข้อมูลที่ได้นัดพิมพ์มาแล้วเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นไม่ใช่เพื่อจุดมุ่งหมายในารศึกษาปัจจุบัน (Kinnear and Tailor. 1996 : 856) ข้อมูลทุติยภูมิอาจจะอยู่ในระบบข้อมูลภายในธุรกิจ เช่น รายงานสำรวจการขายจากใบสั่งซื้อของลูกค้า อาจจะต้องอาศัยจากภายนอก เช่น ห้องสมุดธุรกิจ ข้อมูลสถิติของรัฐบาล รายงานจากสมาคมการค้า ฯลฯ
- ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data) เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากแหล่งข้อมูลเบื้องต้นซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่เกิดจากคำถามในการวิจัย (Churchill. 1996 : 55) วิธีการในการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจะเกี่ยวข้องกับคำถามต่อไปนี้
(1) ควรรวบรวมโดยการสังเกตหรือการออกแบบแบบสอบถาม
(2) ควรจะมีวิธีการสังเกตอย่างไร
(3) การสำรวจด้วยตัวเองหรือใช้เครื่อง อิเล็กทรอนิกส์
(4) คำถามควรจะมีการบริหารโดยบุคคล โทรศัพท์ หรือใช้จดหมาย


9. การวิเคราะห์ข้อมูล  
                 การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) เป็นการจำแนกข้อมูลออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อจัดข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นระบบหมวดหมู่ แล้วใช้ค่าสถิติช่วยในการสรุปลักษณะของข้อมูลนั้น ๆ ตามลักษณะของตัวแปรที่ศึกษา ในกรณีที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ จะแตกต่างกับการวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้การวิเคราะห์โดยการจำแนกชนิดและการเปรียบเทียบลักษณะของข้อมูลเพื่อหาความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันของปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยกรอบแนวคิดและทฤษฎีช่วยในการสร้างข้อสรุปนั้น การเลือกใช้สถิติจะพิจารณาจาก
                1. วัตถุประสงค์การวิจัย (เพื่อการบรรยาย,เพื่อเปรียบเทียบ,เพื่อหาความสัมพันธ์,เพื่อสร้างตัวแบบ)
2. หน่วยการวิเคราะห์ (เอกบุคคล, แบบกลุ่ม)
3. ระดับการวัดค่าตัวแปร (ระดับกลุ่ม, ระดับอันดับ, ระดับช่วง, ระดับอัตราส่วน)
4. การเลือกตัวอย่าง (ใช้การสุ่ม, ไม่มีการสุ่ม)
ดังนั้นเทคนิคการวิเคราะห์และแปลผลขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ดังนี้
         1. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้วิธีการทางสถิติเป็นวิธีการในการวิเคราะห์
           ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
a. สถิติบรรยาย (Descriptive Statistics)การวิจัยที่มุ่งหมายเพื่อการบรรยายข้อมูลตัวอย่างหรือประชากรโดยไม่อ้างอิงไปถึงประชากรใด สามารถเลือกใช้สถิติบรรยายได้ดังนี้
1. การแจกแจงความถี่
2. การจัดตำแหน่งเปรียบเทียบ (Proportion, Rate, Ratio, Percentage)
3. การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง (Mean, Median, Mode)
4. การวัดการกระจาย (S.D, Range)
5. การวัดความสัมพันธ์ (rxy)
6. การวัดการถดถอย
b. สถิติอนุมาน (Inferential Statistics) หรือสถิติวิเคราะห์ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. Non-Parametric Statistics
2. Parametric Statistics
            2. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้เทคนิควิธีการที่เรียกว่า การจำแนกกลุ่มข้อมูลเชิงคุณภาพ
        
             การวางแผนการวิเคราะห์ข้อมูล
                                ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นผู้วิจัยควรจะมีการวางแผนก่อนโดยพิจารณาจาก
           วัตถุประสงค์ของการวิจัยว่า ในแต่ละวัตถุประสงค์ของการวิจัยจะทำการวิเคราะห์อย่างไร ควรจะจัด
            กระทำข้อมูลอย่างไร และใช้ค่าสถิติใดช่วยในการหาคำตอบตามวัตถุประสงค์นั้น

10. การนำเสนอผล ( การเขียนรายงานการวิจัย)
 บทที่ 1  บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
วัตถุประสงค์การวิจัย
ขอบเขตการวิจัย
ข้อตกลงเบื้องต้น
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
 บทที่ 2  วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
ทฤษฎี แนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
กรอบแนวคิด
สมมุติฐานการวิจัย
นิยามศัพท์เฉพาะ
 บทที่ 3  วิธีดำเนินการวิจัย
รูปแบบการวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
การเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้
 บทที่ 4  ผลการวิเคราะห์ข้อมูล (เสนอตามวัตถุประสงค์และสมมุติฐาน)
 บทที่ 5  สรุป อภิปรายผล ข้อเสนอแนะ
สรุปผลการวิจัย
อภิปรายผล
                        ข้อเสนอแนะ(ต่อหน่วยงานหรือเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น: