คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต,บรรยายวิชาการ,วิจัย,ศึกษากุรอาน,E-Book

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การประเมินผลโครงการด้วยแบบจำลอง CIPP Model

              การดำเนินงานตามโครงการ หรือการบริหารโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนก็ตาม จะต้องมีการวางแผนโครงการ โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้ เพื่อคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง เมื่อวางแผนโครงการและมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ตลอดจนการออกแบบโครงการเป็นอย่างดีแล้ว ผู้ที่มีอำนาจจะทำการคัดเลือก โครงการ และอนุมัติโครงการต่อไป ต่อจากนั้นจะมีองค์กรนำโครงการไปปฏิบัติ เราเรียกว่า การบริหารโครงการ (Project Management) ถ้าการวางแผนโครงการดี เท่ากับ งานสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวางแผนโครงการที่ดี จะช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับความสำเร็จของโครงการ แต่ก็มิใช่เป็นหลักประกัน ความสำเร็จของนโยบาย/แผนงาน/โครงการสาธารณะเสียทั้งหมด เพราะความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลวของนโยบาย/แผนงาน โครงการต่าง ๆ จะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ อีกมาก โดยเฉพาะกระบวนการบริหารโครงการ และการประเมินผลโครงการ คือการวางแผน( Planning ) เกี่ยวข้องกับ การคิด การดำเนินการ หรือ การบริหาร ( Implementation / Operation ) เกี่ยวกับการกระทำ ส่วนการประเมินผล ( Evaluation ) คือ การเปรียบเทียบ ระหว่างการวางโครงการกับการกระทำ การประเมินผลจึงเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่จะทำให้ทราบว่า การปฏิบัติงานตามโครงการนั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เพียงใด มีการเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่วางแผนไว้หรือไม่ ถ้าเบี่ยงเบนมากจะได้หาวิธีปรับปรุงแก้ไขความคาดหวัง กับ การปฏิบัติจริงนั้นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยเฉพาะปัจจุบันการบริหารการพัฒนาประเทศมิได้ประเมินเฉพาะผลสำเร็จของโครงการจากผลผลิต (Output) ที่ได้จากการดำเนินโครงการเท่านั้น แต่ความสำเร็จของโครงการจะต้องพิจารณาทั้งผลผลิต (Output) ผลลัพธ์(Outcome) และผลกระทบ (Impact) ด้วย เราเรียกว่า การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Base Management) ดังนั้นการที่จะทราบถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่าง ๆ ได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยกระบวนการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ

                แบบจำลองหรือโมเดลการประเมินแบบซิปป์ หรือ CIPP Model ของสตัฟเฟิลบีม (Danial . L. Stufflebeam) เป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบัน  ซึ่ง สตัฟเฟิลบีม และคณะ ได้เขียนหนังสือทางการประเมินออกมาหนึ่งเล่ม ชื่อ  “Educational Evaluation and decision Making” หนังสือเล่มนี้ ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เพราะให้แนวคิดและวิธีการทางการวัดและประเมินผล ได้อย่างน่าสนใจและทันสมัยด้วย  นอกจากนั้น  สตัฟเฟิลบีมก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการประเมินและรูปแบบของการประเมินอีกหลายเล่มอย่างต่อเนื่อง  จึงกล่าวได้ว่า  ท่านผู้นี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีการประเมิน  จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบัน  เรียกว่า  CIPP  Model
            เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง มีจุดเน้นที่สำคัญ คือ ใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการ เพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา วัตถุประสงค์การประเมิน คือ การให้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ เน้นการแบ่งแยกบทบาทของการทำงานระหว่าง ฝ่ายประเมินกับ ฝ่ายบริหารออกจากกันอย่างเด่นชัด กล่าวคือฝ่ายประเมินมีหน้าที่ระบุ จัดหา และนำเสนอสารสนเทศให้กับฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่เรียกหาข้อมูล และนำผลการประเมินที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการมีอคติในการประเมิน และ เขาได้แบ่งประเด็นการประเมินผลออกเป็น 4 ประเภท คือ
            1.  การประเมินด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation : C)  เป็นการประเมินให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ เป็นการตรวจสอบว่าโครงการที่จะทำสนองปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่ วัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายขององค์การ หรือ นโยบายหน่วยเหนือหรือไม่ เป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ในแง่ของโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ หรือไม่ เป็นต้น
            การประเมินสภาวะแวดล้อมจะช่วยในการตัดสินเกี่ยวกับเรื่อง โครงการควรจะทำในสภาพแวดล้อมใด ต้องการจะบรรลุเป้าหมายอะไร หรือต้องการบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะอะไร  เป็นต้น
            2.  การประเมินปัจจัยเบื้องต้นหรือปัจจัยป้อน (Input Evaluation : I ) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาถึง ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสม และความพอเพียงของทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ เช่น งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เวลา  รวมทั้งเทคโนโลยีและแผนการดำเนินงาน  เป็นต้น
           การประเมินผลแบบนี้จะทำโดยใช้ เอกสารหรืองานวิจัยที่มีผู้ทำไว้แล้ว หรือใช้วิธีการวิจัยนำร่องเชิงทดลอง (Pilot Experimental Project) ตลอดจนอาจให้ผู้เชี่ยวชาญ มาทำงานให้ อย่างไรก็ตาม การประเมินผลนี้จะต้องสำรวจสิ่งที่มีอยู่เดิมก่อนว่ามีอะไรบ้าง และตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใด ใช้แผนการดำเนินงานแบบไหน และต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอก หรือไม่
            3.  การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P ) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ เพื่อหาข้อบกพร่องของการดำเนินโครงการ ที่จะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุง ให้การดำเนินการช่วงต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการตรวจสอบกิจกรรม เวลา ทรัพยากรที่ใช้ในโครงการ ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการ โดยมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกขั้นตอน การประเมินกระบวนการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการค้นหาจุดเด่น หรือจุดแข็ง (Strengths) และจุดด้อย (Weakness) ของนโยบาย/แผนงาน/โครงการ มักจะไม่สามารถศึกษาได้ภายหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว
           การประเมินกระบวนการจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องการให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นระยะ ๆ เพื่อการตรวจสอบการดำเนินของโครงการโดยทั่วไป การประเมินกระบวนการมีจุดมุ่งหมาย คือ
            3.1 เพื่อการหาข้อบกพร่องของโครงการ ในระหว่างที่มีการปฏิบัติการ หรือการดำเนินงานตามแผนนั้น
            3.2 เพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงาน ของโครงการ
            3.3  เพื่อการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการดำเนินงานของโครงการ
            4การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P ) เป็นการประเมินเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่เกิดขี้นกับวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือความต้องการ/ เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งการพิจารณาในประเด็นของการยุบ เลิก ขยาย หรือปรับเปลี่ยนโครงการและการประเมินผล เรื่องผลกระทบ (Impact) และผลลัพธ์( Outcomes ) ของนโยบาย / แผนงาน / โครงการ โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้นและกระบวนการร่วมด้วย  จะเห็นได้ว่า การประเมินแบบ CIPP เป็นการประเมินที่ครอบคลุมองค์ประกอบของระบบทั้งหมด ซึ่งผู้ประเมินจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน กำหนดประเด็นของตัวแปรหรือตัวชี้วัด กำหนดแหล่งข้อมูลผู้ให้ข้อมูล กำหนดเครื่องมือการประเมิน วิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล และเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน
            เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาของการประเมินผลโครงการ เพื่อจำแนกประเภทของการประเมินผลโครงการโดยละเอียดแล้ว เราสามารถจำแนกได้ว่าการประเมินผลโครงการมี 4 ระยะดังต่อไปนี้
            1) การประเมินผลโครงการก่อนการดำเนินงาน (Pre-evaluation) เป็นการประเมินว่ามีความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการกำหนดให้มีโครงการหรือแผนงานนั้น ๆ หรือไม่ บางครั้ง เรียกการประเมินผล ประเภทนี้ว่า การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) หรือการประเมินความต้องการที่จำเป็น (Need Assessment)
            2) การประเมินผลโครงการขณะดำเนินงาน (On-going Evaluation) เป็นการประเมินผลโครงการเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน (Monitoring) และการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ
            3) การประเมินผลโครงการเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงาน (Post-evaluation) เป็นการประเมินว่า ผลของการดำเนินงานนั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่วางไว้หรือไม่
            4) การประเมินผลกระทบจาการดำเนินโครงการ (Impact Evaluation) เป็นการประเมินผลโครงการ ภายหลังจากการสิ้นสุดการดำเนิน โครงการหรือแผนงาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากการมีโครงการหรือปัจจัยอื่น ๆ
            นอกจากนี้ สตัฟเฟิลบีม ได้นำเสนอประเภทของการตัดสินใจ ที่สอดคล้องกับประเด็นที่ประเมินผล ดังนี้
            1. การตัดสินใจเพื่อการวางแผน (Planning Decisions) เป็นการตัดสินใจที่ใช้ข้อมูลจากการประเมินสภาพแวดล้อมที่ได้นำไปใช้ในการกำหนดจุดประสงค์ของโครงการ ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน
            2. การตัดสินใจเพื่อกำหนดโครงสร้างของโครงการ (Structuring Decisions) เป็นการตัดสินใจที่ใช้ข้อมูลจากปัจจัยนำเข้าที่ได้นำไปใช้ในการกำหนดโครงสร้างของแผนงาน และขั้นตอนของการดำเนินการของโครงการ
            3. การตัดสินใจเพื่อนำโครงการไปปฏิบัติ (Implementation Decisions) เป็นการตัดสินใจที่ใช้ข้อมูลจากการประเมินกระบวนการ เพื่อพิจารณาควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
            4. การตัดสินใจเพื่อทบทวนโครงการ (Recycling Decisions) เช่น การตัดสินใจเพื่อใช้ข้อมูลจากการประเมินผลผลิต (Output ) ที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาการยุติ / ล้มเลิก หรือขยายโครงการที่จะนำไปใช้ในโอกาสต่อไป
            ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นการประเมินแบบ CIPP Model ทั้ง 4 ประการ และประเภทของการตัดสินใจดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างประเภทของการประเมินกับการตัดสินใจ ดังแผนภูมิ

ประเภทการประเมิน
ประเภทการตัดสินใจ
การประเมินสภาวะแวดล้อม
(Context Evaluation)
การตัดสินใจเพื่อการวางแผน
(Planning Decisions)
การประเมินปัจจัยเบื้องต้น/ตัวป้อน
(Input Evaluation)
การตัดสินใจเพื่อกำหนดโครงสร้าง
(Structuring Decisions)
การประเมินกระบวนการ
(Process Evaluation)
การตัดสินใจเพื่อนำโครงการไปปฏิบัติ
(Implementating Decisions)
การประเมินผลผลิต
(Product Evaluation)
การตัดสินใจเพื่อทบทวนโครงการ
(Recycling Decisions)

                                          
 แผนภูมิ : ความสัมพันธ์การตัดสินใจ และประเภทการประเมินแบบ CIPP Model
 

การประเมินผลการฝึกอบรมด้วยแบบจำลอง Kirkpatrick

การฝึกอบรมควรจะมีการประเมินเพื่อให้ทราบถึงระดับของการพัฒนาผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า มีเพียงองค์กรจำนวนน้อยที่จะมีระบบในการประเมินผลอย่างเพียงพอที่จะวัดประสิทธิผลในการฝึกอบรม ในขณะที่วิธีการประเมินผลกำลังพัฒนา ข้อสรุปส่วนใหญ่เกี่ยวกับการฝึกอบรมมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของนามธรรม (Subjective Reactions) ของผู้ฝึกอบรม และผู้เข้ารับการอบรม มันเป็นเรื่องง่ายที่จะรวบรวมข้อคิดเห็น คำติชมจากผู้เรียน แต่ข้อมูลเช่นนี้ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์กับองค์กรเท่าใดนัก การฝึกอบรม และการพัฒนาไม่ได้เป็นเพียงแต่การจัดขึ้นมาเพื่อคุณค่าของความบันเทิง (Entertainment Value) ในตัวของมันเท่านั้น แก่นแท้อยู่ที่ว่า ความพยายามในการฝึกอบรมจะส่งผลต่อการปรับปรุงพฤติกรรม หรือความสามารถในการปฏิบัติงานให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่
            ไม่เพียงแต่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมควรจะได้รับการทดสอบก่อน และหลังการเรียนรู้เท่านั้น แต่การวัดผลควรจะกระทำต่อไปในสมาชิกของกลุ่มที่คัดเลือกขึ้นมา กลุ่มที่คัดเลือกขึ้นมานี้จะประกอบด้วย สมาชิกที่ยังไม่ได้รับการอบรมในโปรแกรม หรือหลักสูตรนั้นๆ แต่มี่คุณสมบัติที่เหมือน หรือใกล้เคียงกับสมาชิกที่ได้รับการอบรมในด้านของ ประสบการณ์ การอบรมในอดีต และลักษณะงานที่ทำ หรือตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ เกณฑ์ในการวัดผลได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการทำผลผลิต การเพิ่มยอดขาย การลดต้นทุน และการสูญเสียค่าใช้จ่าย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อพิจารณาดุว่า ผลการปฏิบัติงานของบุคคลทั้งสองกลุ่ม ทั้งที่ได้รับการฝึกอบรม และยังไม่ได้รับการฝึกอบรมมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
              แบบจำลองในการประเมินผลการฝึกอบรมที่นิยมกันค่อนข้างมาก ได้แก่แบบจำลองของ Donald L. Kirkpatrick ได้กล่าวว่า แบบจำลองนี้จะใช้การวัดผล 4 ระดับเพื่อประเมินคุณภาพ หรือประสิทธิผลของการฝึกอบรม ตามตารางด้านล่างนี้ จากง่ายไปหายาก ในแต่ละระดับของการประเมินผลจะมีทั้งข้อดี และข้อจำกัดในตัวเองอยู่ เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องวางแผนการประเมินผลในขณะที่วางแผนการฝึกอบรมไปด้วยกัน เช่นเดียวกันกับการพิจารณาระดับการประเมินทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการฝึกอบรม แม้ว่าจะมีเพียงหนึ่ง หรือสองระดับการประเมินที่จะถูกนำมาใช้ก็ตาม


Donald Kirkpatrick’s 4 Levels of Evaluating Training

ระดับการประเมิน
คำอธิบาย
ข้อคิดเห็น
ระดับ 1
การตอบสนอง
(Reaction)
การตอบสนองของผู้เรียนที่มีต่อการฝึกอบรม ชอบหลักสูตรที่เรียนหรือไม่?
เป็นวิธีการประเมินที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำในการจัดการ
ระดับ 2
การเรียนรู้
(Learning)
ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม หรือหลักสูตรหรือไม่
การเรียนรู้สามารถวัดผลได้จากแบบทดสอบก่อน และหลังเรียน (Pre and Post Tests)

ระดับ 3
พฤติกรรม
(Behavior)
การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการทำงาน ผู้เรียนได้ประยุกต์ หรือนำสิ่งที่ได้เรียนมาใช้ในการทำงานหรือไม่
เป็นการประเมินที่ยาก แบบสอบถามติดตามผลหลังการฝึกอบรม หรือการสัมภาษณ์อาจถูกนำมาใช้ในการประเมิน
ระดับ 4
ผลลัพธ์
(Results)
เชื่อมโยงการฝึกอบรมไปสู่บรรทัดสุดท้ายของธุรกิจ
โดยทั่วไปแล้วการประเมินในระดับนี้จะประยุกต์ใช้กับการฝึกอบรมที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการขาดความรู้ หรือทักษะ ตัวอย่างเช่น การลดต้นทุน
การประเมินในระดับนี้เป็นเรื่องที่ยาก และซับซ้อนที่จะเชื่อมโยงให้เข้ากับการฝึกอบรมโดยตรง


การเขียนโครงร่างการวิจัยและรายงานการวิจัย

โครงร่างการวิจัย
เป็นการเตรียมแผนดำเนินการวิจัยอย่างเป็นระบบมีจุดประสงค์การเขียนเพื่อ
1. เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัยตามแผนอย่างเป็นระบบ
2. เป็นข้อมูลสำหรับผู้เกี่ยวข้องใช้ในการพิจารณาตัดสินใจว่าปัญหาการวิจัยมีความสำคัญเพียงใดมีเหตุผลสมควรทำวิจัยหรือไม่ จะทำได้สำเร็จหรือไม่
ลักษณะของโครงร่างการวิจัยที่ดี ต้องเขียนในลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ เขียนบรรยาย (ไม่ใช่พรรณนาความ) ให้กระทัดรัด ชัดเจน จัดลำดับเนื้อหาไม่วกวน ทำให้เข้าใจง่ายและอย่างติดตาม การเขียนต้องมีความสมบูรณ์ที่จะถ่ายทอดให้ผู้ท่านเข้าใจมองเห็นแผนการดำเนินการวิจัย คือ มีองค์ประกอบการดำเนินการวิจัยครบถ้วน ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องใช้สรรพนามแทนตัวผู้เขียนว่า "ผู้วิจัย" บรรยายแผนการวิจัยว่าจะทำอะไร โดยแสดงให้เห็นความสำคัญ จำเป็นของปัญหาการวิจัยสอดแทรกทฤษฎี / วรรณกรรม สอดคล้อง และเน้นประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัยให้ครบถ้วน

ส่วนประกอบของโครงร่างการวิจัย
(แตกต่างกันไปตามสถาบันและแหล่งทุน)
1. ชื่อโครงการวิจัย
2. ผู้ดำเนินงานวิจัย
3. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย
4. กรอบแนวคิดในการวิจัย
5. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
6. วิธีการดำเนินการวิจัย
7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาการวิจัย
8. ผลงานวิจัยที่ทำมาแล้ว (เกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้) ถ้ามี
9. แผนการดำเนินการวิจัย
10. งบประมาณ
11. ลายมือชื่อหัวหน้า
12. ลายมือชื่อผู้อนุมัติ
13. วัน เดือน ปี ที่อนุมัติ

สุดยอดเครื่องมือสร้างWeb-Base

จากการศึกษาและทดลองใช้โปรแกรมที่ใช้สำหรับสร้าง web-base ที่เป็น web Application สำหรับเป็นระบบที่สามารถจัดเก็บบันทึกข้อมูล แก้ไข ค้นหา และลบข้อมูล โดยมีการใช้งานผ่าน Browser ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีโปรแกรมชื่อ PHPRunner(มาคู่กันกับ ASPRunner) เป็นเครื่องมือซึ่งจะสามารถสร้าง web-base Application ได้อย่างสมบูรณแบบที่สุด โดยสามารถทำได้ครบเป็นหนึ่ง website ได้เลย จากการทดสอบ PHPRunner v.5 (builde 587) ไฟล์ติดตั้งขนาดประมาณ 12 MB โดยมีความสามารถที่เครื่องมือตัวอื่นๆไม่มีดังนี้
                -สามารถสร้างได้ครบองค์ประกอบของwebsite
                -สร้างฐานข้อมูล MySQL พร้อมสร้าง Table ได้เองจากภายใน PHPRunner โดยไม่ต้องพึ่ง PhpMyAdmin
                -สร้างระบบการจัดการข้อมูล DBMS ได้สมบูรณ์ เพิ่ม/แก้ไข/ลบ/ค้าหา
                -มี Inline Edit และ Inline Add
                -สร้าง Drop-Down List ได้ อ่านค่าแบบ LooUp จาก Table ได้
                -สามารถสร้างระบบการ Login ที่ดีมาก ทั้ง Hardcode User/Pass และอ่านจาก Table  พร้อมทั้งสามารถกำหนด Permission ได้อีกด้วย
                -แสดงผลจากฐานข้อมูล เป็นรายงาน Report และเป็นกราฟ ได้
                -มี Editor สำหรับแก้ไขหน้าWeb แบบ WYSWYG แสดงได้ทั้ง Code และ Design
                     -ใช้งานง่ายเหมือนกับ Wizard

การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำวิจัย

       
   การเลือกเรื่องเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งนักวิจัยต้องใช้เวลานานพอสมควรในการพิจารณา โดยเฉพาะการพิจารณาความสำคัญของเรื่อง ประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย โดยมากแล้วการเลือกเรื่องวิจัยจะได้มาจากความสนใจของผู้วิจัย ความสำคัญและเป็นประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุน และสามารถทำวิจัยได้ ตลอดจนไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว

1. การได้มาซึ่งเรื่องในการทำวิจัยอาจได้จาก ความสนใจของผู้วิจัย ได้จากการสังเกตในสภาพการณ์จริง ซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง จะช่วยให้ได้รายละเอียดของเรื่องรายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและช่วยยืนยันความสำคัญของปัญหาที่จะศึกษาว่ามีเพียงพอ

2. การเลือกเรื่องวิจัยบางครั้งได้จากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้เรื่องการวิจัยที่ผู้วิจัยอื่นเสนอแนะก็ได้

3. เป็นเรื่องที่อยู่ในสาขาของผู้วิจัยหรือผู้วิจัยมีความรู้พอสมควร หากความรู้น้อยในเรื่องที่ศึกษาอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักได้

         ก่อนการเลือกเรื่องหรือหัวข้อในการทำวิจัย ผู้วิจัยต้องสำรวจก่อนว่า เรื่องที่จะเลือกมีเอกสารหรือผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อนำมาใช้ประกอบการอ้างอิงต่อไป และทำให้ทราบว่า เรื่องที่จะทำมีใครทำมาบ้าง หรือคล้ายกันในประเด็นใด การอ่านรายงานการวิจัยมาก ๆ เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ได้มาซึ่งเรื่อง / หัวข้อในการทำวิจัย  ลักษณะของปัญหาที่จะทำวิจัยได้ ต้องเป็นปัญหาที่ไม่กว้างเกินไป ตัวแปรสำคัญ ๆ ไม่มากนักและต้องคำนึงองค์ประกอบด้านเวลาทุน

หลักการเขียนโครงการ


กระบวนการก่อนวางโครงการ (เช่นเดียวกับการวางแผน)
1. ปัญหาความต้องการ
2. รวบรวมข้อมูล
3. วิเคราะห์ปัญหา
4. จัดลำดับความสำคัญของปัญหา/คัดเลือกปัญหา
5. วิเคราะห์สาเหตุ
6. กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมาย
7. กำหนดกิจกรรม/ทรัพยากร
8. วางโครงการ

องค์ประกอบของโครงการ (แบบฟอร์มการเขียนโครงการ)
            1. ชื่อแผนงาน(ถ้ามี)
            2. ชื่อโครงการ
            3. หลักการและเหตุผล
            4. วัตถุประสงค์
            5. เป้าหมาย
            6. วิธีดำเนินการ
            7. ระยะเวลาดำเนินการ
            8. งบประมาณ
            9. ผู้รับผิดชอบโครงการ
          10. หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน
          11. การประเมินผล
          12. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
องค์ประกอบของโครงการ
องค์ประกอบพื้นฐานในโครงการแต่ละโครงการนั้นควรจะมีดังนี้
1.ชื่อแผนงาน เป็นการกำหนดชื่อให้ครอบคลุมโครงการเดียวหรือหลายโครงการที่มีลักษณะงานไปในทิศ ทางเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสนองวัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้
2.ชื่อโครงการ ให้ระบุชื่อโครงการตามความเหมาะสม มีความหมายชัดเจนและเรียกเหมือนเดิมทุกครั้งจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ
3. หลักการและเหตุผล ใช้ชี้แจงรายละเอียดของปัญหาและความจำเป็นที่เกิดขึ้นที่จะต้องแก้ไข ตลอดจนชี้แจงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงานตามโครงการและหากเป็นโครงการที่จะดำเนินการ ตามนโยบาย หรือสอดคล้องกับแผนจังหวัดหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผน อื่น ๆ ก็ควรชี้แจงด้วย ทั้งนี้ผู้เขียนโครงการ
          บางท่านอาจจะเพิ่มเติมข้อความว่าถ้าไม่ทำโครงการดังกล่าวผลเสียหายโดยตรง หรือผลเสียหายในระยะยาวจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้อนุมัติโครงการได้เห็นประโยชน์ของโครงการกว้างขวางขึ้น
4. วัตถุประสงค์ เป็นการบอกให้ทราบว่า การดำเนินงานตามโครงการนั้นมีความต้องการให้อะไรเกิดขึ้นวัตถุประสงค์ที่ควรจะระบุไว้ควรเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้และวัดและประเมินผลได้ ในระยะ หลัง ๆ นี้นักเขียนโครงการที่มีผู้นิยมชมชอบมักจะเขียนวัตถุประสงค์เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม  คือเขียนให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเขียนเป็นนามธรรม  การทำโครงการหนึ่ง ๆ อาจจะมีวัตถุประสงค์  มากกว่า 1 ข้อได้ แต่ทั้งนี้การเขียนวัตถุประสงค์ไว้มาก ๆ อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติมองไม่ชัดเจน และอาจ  จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ไม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน-ปฏิบัติได้-วัดได้ เพียง 1-3 ข้อ
5.เป้าหมาย ให้ระบุว่าจะดำเนินการสิ่งใด โดยพยายามแสดงให้ปรากฏเป็นรูปตัวเลขหรือจำนวนที่จะทำได้  ภายในระยะเวลาที่กำหนด การระบุเป้าหมาย ระบุเป็นประเภทลักษณะและปริมาณ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความสามารถในการทำงานของผู้รับผิดชอบโครงการ
6.วิธีดำเนินการหรือกิจกรรมหรือขั้นตอนการดำเนินงาน คืองานหรือภารกิจซึ่งจะต้องปฏิบัติในการดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ในระยะการเตรียมโครงการจะรวบรวมกิจกรรมทุกอย่างไว้แล้วนำมาจัดลำดับว่าควรจะทำสิ่งใดก่อน-หลัง หรือพร้อม ๆ กัน แล้วเขียนไว้ตามลำดับ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์
7.ระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ คือการระบุระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการปัจจุบันนิยมระบุ วัน-เดือน-ปี ที่เริ่มต้นและเสร็จสิ้น การระบุจำนวน ความยาวของโครงการเช่น 6 เดือน  2 ปี โดยไม่ระบุเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุด เป็นการกำหนดระยะเวลาที่ไม่สมบูรณ์
8.งบประมาณ เป็นประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของโครงการ ซึ่งควรจำแนกรายการค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน งบประมาณอาจแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
            - เงินงบประมาณแผ่นดิน
            - เงินกู้และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
            - เงินนอกงบประมาณอื่น ๆ เช่น เงินเอกชนหรือองค์การเอกชน เป็นต้น
       การระบุยอดงบประมาณ ควรระบุแหล่งที่มาของงบประมาณด้วย นอกจากนี้หัวข้อนี้สามารถระบุทรัพยากรอื่นที่ต้องการ เช่น คน วัสดุ ฯลฯ
9. เจ้าของโครงการหรือผู้รับผิดชอบโครงการ เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบโครงการ โครงการย่อย ๆ บางโครงการระบุเป็นชื่อบุคคลผู้รับผิดชอบเป็นรายโครงการได้
10.หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เป็นการให้แนวทางแก่ผู้อนุมัติและผู้ปฏิบัติว่าในการดำเนินการโครงการ นั้น ควรจะประสานงานและขอความร่วมมือกับหน่วยงานใดบ้าง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
11.การประเมินผล บอกแนวทางว่าการติดตามประเมินผลควรทำอย่างไรในระยะเวลาใดและใช้วิธีการ อย่างไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งผลของการประเมินสามารถนำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการ เตรียมโครงการที่คล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้องในเวลาต่อไป
12. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหรือตัวชี้วัด เมื่อโครงการนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้างใครเป็นผู้ได้รับเรื่องนี้สามารถเขียนทั้งผลประโยชน์โดยตรงและผลประโยชน์ในด้านผลกระทบของโครงการด้วยได้

ลักษณะโครงการที่ดี  โครงการที่ดีมีลักษณะดังนี้
1. เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้
2. มีรายละเอียด เนื้อหาสาระครบถ้วน ชัดเจน และจำเพาะเจาะจง โดยสามารถตอบคำถามต่อไปนี้ได้คือ
        - โครงการอะไร = ชื่อโครงการ
        - ทำไมจึงต้องริเริ่มโครงการ = หลักการและเหตุผล
        - ทำเพื่ออะไร = วัตถุประสงค์
        - ปริมาณที่จะทำเท่าไร = เป้าหมาย
        - ทำอย่างไร = วิธีดำเนินการ
        - จะทำเมื่อไร นานเท่าใด = ระยะเวลาดำเนินการ
        - ใช้ทรัพยากรเท่าไรและได้มาจากไหน = งบประมาณ แหล่งที่มา
        - ใครทำ = ผู้รับผิดชอบโครงการ
        - ต้องประสานงานกับใคร = หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน
        - บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ = การประเมินผล
        - เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วจะได้อะไร = ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
3. รายละเอียดของโครงการดังกล่าว ต้องมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เช่น วัตถุประสงค์ต้องสอดคล้องกับหลักการและเหตุผล วิธีดำเนินการต้องเป็นทางที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ฯลฯ เป็นต้น
4. โครงการที่ริเริ่มขึ้นมาต้องมีผลอย่างน้อยที่สุดอย่างใดอย่างหนึ่งในหัวข้อต่อไปนี้
        - สนองตอบ สนับสนุนต่อนโยบายระดับจังหวัดหรือนโยบายส่วนรวมของประเทศ
        - ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งเฉพาะส่วนและการพัฒนาโดยส่วนรวมของประเทศ
        - แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงจุดตรงประเด็น
5. รายละเอียดในโครงการมีพอที่จะเป็นแนวทางให้ผู้อื่นอ่านแล้วเข้าใจ และสามารถดำเนินการตามโครงการได้
6. เป็นโครงการที่ปฏิบัติได้และสามารถติดตามและประเมินผลได้

สรุป
    ในการจัดทำโครงการนั้น ผู้จัดทำโครงการ จะต้องศึกษาปัญหาความต้องการ ก่อนการเขียน โครงการ เช่นการสำรวจ การสังเกต การประชุมปรึกษาการพบปะพูดคุย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้จัดทำโครงการมีแนวคิด ในการจัดเตรียมโครงการได้ จะช่วยให้โครงการเป็นไปอย่างเหมาะสม

การวางแผนการดำเนินงานสาธารณสุขในชุมชน

                    การวางแผนการดำเนินงานสาธารณสุขในชุมชน เป็นการทำงานที่มีกระบวนการโดยที่มีขั้นตอนที่ชัดเจน จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือท้องถิ่นที่ต้องทำงานกับชุมชนในการพัฒนางานหรือแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขให้แก่ชุมชน อาทิ เช่น งานอนามัยแม่และเด็ก งานควบคุมโรค งานอาชีวอนามัย งานสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกระดับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล หรือ อาสาสมัครสาธารณสุข จะต้องสร้างความเข้าใจในกระบวนการการทำงานดังกล่าว โดยมีขั้นตอนหลักๆที่สามารถเข้าใจได้อย่างง่าย ดังรูป
1.การเก็บข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์
         เป็นการค้นหาข้อมูลด้านภาวะสุขภาพปัจจุบันที่เกิดขึ้นในชุมชน  เพื่อพิจารณาสถานการณ์ และนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น
                   ข้อมูลสาธารณสุข 2 ระดับ
          1.ระดับครัวเรือน เช่น  น้ำ/ส้วม/ขยะ/อากาศถ่ายเท/แสงสว่าง/สัตว์เลี้ยง ฯลฯ
          2.ระดับบุคคล เช่น  เพศ/อาชีพ/การศึกษา/สิทธิการรักษา/โรคประจำตัว ฯลฯ

สรุปขั้นตอนการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อทราบปัญหา ดังรูป
2.จัดลำดับความสำคัญของปัญหา
เป็นการพิจารณาจัดเรียงลำดับของปัญหาที่ได้จากการเก็บข้อมูล ซึ่งมีหลายปัญหาเพื่อเตรียมดำเนินการแก้ไข โดยพิจารณาตามตัวแปรหลักดังนี้
1.ขนาดและความรุนแรงของปัญหา
2.ความยากง่ายในการแก้ปัญหา
3.ความตระหนักของชุมชนต่อปัญหา
4.ผลประโยชน์ที่ได้รับ
           โดยมีขั้นตอนการพิจารณาให้คะแนนในแต่ละปัญหา ดังนี้
-สร้างและกำหนดเกณฑ์ ตามตัวแปร
-ให้น้ำหนักแต่ละเกณฑ์ นิยมให้คะแนนระหว่าง 1-5 คะแนน
-ให้คะแนนแต่ละปัญหา นิยมให้คะแนนระหว่าง 1-5 คะแนน
-รวมคะแนนตามที่ถ่วงน้ำหนัก โดยรวมผลคูณที่ได้จากการถ่วงน้ำหนัก
-จัดลำดับความสำคัญตามคะแนนที่ได้ โดยเรียงจากมากไปน้อย
3.เขียนโครงการ
เป็นการกำหนดวิธีการและทิศทางการแก้ไขปัญหามีการระบุกิจกรรมว่าจะทำอะไร เมื่อใด แก่ใคร ที่ไหน ใช้เงินเท่าใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบ
          องค์ประกอบของโครงการ
           1. ชื่อแผนงาน(ถ้ามี)
            2. ชื่อโครงการ
            3. หลักการและเหตุผล
            4. วัตถุประสงค์
            5. เป้าหมาย
            6. วิธีดำเนินการ
            7. ระยะเวลาดำเนินการ
            8. งบประมาณ
            9. ผู้รับผิดชอบโครงการ
          10. หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน
          11. การประเมินผล
          12. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
4.ลงมือปฏิบัติ
เป็นการดำเนินกิจกรรมตามที่ระบุในโครงการ ให้ครอบคลุมในทุกกิจกรรม
5.ติดตามผล
           เป็นการติดตามผลที่เกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานตามโครงการ ทั้งที่เป็นผลลัพธ์และผลกระทบในระยะยาว